Introduction to Puppy Linux

ในโสเหล่ 58.02 คุณมานิต อนุกูลอนันต์ชัย ได้มาแนะนำ Puppy Linux ซึ่งเป็นลินุกซ์ขนาดเล็กให้เราฟัง

แนวคิดของ Puppy Linux คือ สร้างดิสโทรที่มีขนาดเล็ก กินทรัพยากรของเครื่องน้อยที่สุด จนสามารถทำงานในเครื่องรุ่นเก่า ๆ ได้ มีทั้งแบบ live และแบบติดตั้งลงเครื่อง

ประเด็นต่าง ๆ ที่เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับ Puppy Linux:

  • เดสก์ท็อปหลักใช้ JWM เป็น window manager และโปรแกรมส่วนใหญ่ใช้ GTK+ 2 (รุ่นเก่า ๆ ใช้ Fluxbox ซึ่งออกจะใช้ยากสำหรับผู้ใช้ทั่วไป และมีรุ่นที่ใช้ Enlightenment ด้วย)
  • มีระบบจัดการแพกเกจที่เรียกว่า PPM (Puppy Package Manager) โดยรูปแบบแพกเกจเรียกว่า PET (Puppy Enhanced Tarball)
  • มี Puppy Linux หลาย base บ้างก็มาจาก Ubuntu บ้างก็มาจาก Slackware จึงทำให้เราพอเห็นภาพว่า Puppy เป็นแนวคิดของการทำดิสโทรต่าง ๆ ให้มีขนาดเล็ก ไม่ได้เจาะจงค่ายใดค่ายหนึ่ง
  • มีการพัฒนาเครื่องมือสำหรับตั้งค่าต่าง ๆ เช่น การเชื่อมต่อเครือข่าย การตั้งค่าหน้าจอ ในแบบฉบับของ Puppy เอง โดยทั้งหมดเขียนด้วย shell script เพื่อสร้าง GUI ที่สวยงามด้วย gtkdialog!
  • document ต่าง ๆ ถูกตัดออกทั้งหมด รวมทั้ง man page ทั้งหมด เพื่อให้ได้ระบบที่มีขนาดเล็กที่สุด คำสั่ง man ถูกเขียนทับด้วย shell script สำหรับเรียกเว็บเบราว์เซอร์ (ตัวปริยายคือ seamonkey) เพื่อเปิด man page ในอินเทอร์เน็ต (เช่น ls(1))
  • มีโปรแกรมออฟฟิศขนาดเบาให้ใช้ โดยใช้ Gnumeric และ Abiword จาก GNOME Office Suite
  • การทำงานลื่นมากอย่างไม่น่าเชื่อ แม้จะอยู่บนเครื่อง Pentium รุ่นเก่า คาดว่าเป็นเพราะการใช้ RAM disk เพราะระบบมันเล็กมากจนสามารถโหลดเข้า RAM ได้! (นึกถึงสมัยดอสกันเลยทีเดียว)

การได้เรียนรู้ Puppy Linux จึงเป็นการเปิดหูเปิดตาพอสมควร ถึงความพยายามในการลดการใช้ทรัพยากรทุกอย่างจนได้ระบบที่เล็กจนสามารถทำงานได้กับเครื่องเก่า ๆ แม้จะรันซอฟต์แวร์รุ่นใหม่ ๆ ที่กินทรัพยากรมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้บันทึกเคยนึกค้านว่า ถ้าจะติดตั้งลินุกซ์ในเครื่องเก่า ๆ ดิสโทรอย่าง Debian ก็สามารถปรับลดให้เล็กตามที่ต้องการได้ แต่จะให้เล็กเท่า Puppy คงต้องไปดูโครงการอย่าง Emdebian ถึงจะพอเทียบเคียงได้บ้าง

ผู้บันทึก: เทพพิทักษ์ การุญบุญญานันท์

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Vim Tips

Open source ในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพและเรื่องอื่น ๆ

About Us